ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง 
ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้างว่าด้วยนั่งร้าน
   
 

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 (7) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2515 จึงเห็นสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2519 เพื่อกำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและความ ปลอดภัยสำหรับลูกจ้างในงานก่อสร้างได้เป็นไปโดยเหมาะสมยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทยจึงออกประกาศดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2519

 

ข้อ 2 ประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง ว่าด้วยนั่งร้าน”

 

ข้อ 3 ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

ข้อ 4 ในประกาศนี้

“งานก่อสร้าง” หมายความว่า การประกอบการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ท่าเรือ ทางน้ำ ถนน การโทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ก๊าซ หรือประปา และหมายความรวมถึงการต่อเติม ซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ด้วย

“อาคาร” หมายความว่า อาคารตามความหมายที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร

“นั่งร้าน” หมายความว่า ที่ปฏิบัติงานซึ่งจัดไว้สูงจากพื้นดิน หรือส่วนของอาคาร หรือส่วนของงานก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับของผู้ปฏิบัติงาน และ หรือวัสดุในงานก่อสร้างเป็นการชั่วคราว

“นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว” หมายความว่า นั่งร้านซึ่งมีที่ปฏิบัติงานเป็นคานยึดติดกับเสาแถวเดี่ยว

 

ข้อ 5 ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้มิให้ใช้บังคับแก่

(1) งานก่อสร้างอาคารที่ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่และมีความสูงจากพื้นดินถึงคานรับหลังคา ไม่เกิน 7.00 เมตร

(2) งานซ่อมแซม หรือตกแต่งอาคาร โดยใช้ผู้ปฏิบัติงานคราวละไม่เกินสองคน

(3) งานติดตั้งประปา ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อื่นๆ โดยใช้ผู้ปฏิบัติงานนั้นคราวละไม่เกินสองคน

 

 

 

หมวด 1
งานก่อสร้าง

ข้อ 6 การทำงานก่อสร้างซึ่งมีความสูงเกิน 2.00 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีนั่งร้านสำหรับการก่อสร้างงานนั้น

 

หมวด 2
แบบนั่งร้าน

ข้อ 7 นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยวที่สูงเกิน 7.00 เมตรขึ้นไป หรือนั่งร้านที่สูงเกิน 21.00 เมตรขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่ ก.ว กำหนด เป็นผู้ออกแบบและกำหนดรายการละเอียดนั่งร้าน

 

ข้อ 8 นั่งร้านเสาเรียงเดียวที่สูงไม่เกิน 7.00 เมตร หรือนั่งร้านที่สูงไม่เกิน 21.00 เมตร นายจ้างต้องจัดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่ ก.ว. กำหนด เป็นผู้ออกแบบและกำหนดรายการละเอียดนั่งร้าน หรือจะใช้ตามนั่งร้านมาตรฐานประเภทต่างๆ ตามกำหนดในข้อ 12 ก็ได้

 

ข้อ 9 ในกรณีที่นายจ้างจะให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมที่ ก.ว.กำหนดเป็นผู้ออกแบบและกำหนดรายการละเอียดนั่งร้าน อย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้ต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุเปื่อย ไม่มีรอยแตกร้าวหรือชำรุดอื่นๆ ที่จะทำให้ไม้ขาดความแข็งแรงทนทาน และจะต้องมีหน่วยแรงตัดประลัย (Ultimate Bending Stress) ไม่น้อยกว่า 500 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีส่วนปลอดภัยไม่น้อยกว่าสี่เท่าของแรงดัดประลัย เว้นแต่ไม้ที่ใช้เป็นไม้ไผ่ต้องมีหลักฐานเอกสารในการทดสอบความแข็งแรงของวัสดุที่จะใช้จากสถาบันที่ทางราชการเชื่อถือได้ มีส่วนปลอดภัยเพียงพอ และให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 11 (6)

ถ้าสร้างด้วยโลหะ ต้องเป็นโลหะที่มีจุดคราก (Yield Point) ไม่น้อยกว่า 2,400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร และมีส่วนปลอดภัยไม่น้อยกว่าสองเท่าของจุดคราก

(2) นั่งร้านต้องสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักแห่งการใช้งานสำหรับนั่งร้านที่สร้างด้วยโลหะ และไม่น้อยกว่าสี่เท่าของน้ำหนักแห่งการใช้งานสำหรับนั่งร้านที่สร้าง ด้วยไม้

(3) ที่รองรับนั่งร้านต้องมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของน้ำหนักแห่งการใช้งาน

(4) โครงนั่งร้านต้องมีการยึดโยง ค้ำยันหรือตรึงกับพื้นดิน หรือส่วนของงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันมิให้เซหรือล้ม

(5) ต้องมีราวกันตกมีความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และไม่เกิน 1.10 เมตร จากพื้นนั่งร้าน ตลอดแนวยาวด้านนอกของพื้นนั่งร้าน นอกจากเฉพาะช่วงที่จำเป็นเพื่อขนถ่ายสิ่งของ ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว

(6) ต้องจัดให้มีพื้นนั่งร้านปูติดต่อกันมีความกว้างไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตร ยึดกับตงให้แน่น ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว

(7) ต้องจัดให้มีบันไดภายในของนั่งร้าน โดยใช้ไม้หรือโลหะ มีความเอียงลาดไม่เกิน 45 องศา ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว

(8) ต้องออกแบบเผื่อไว้ให้นั่งร้านสามารถรับน้ำหนักผ้าใบ สังกะสี ไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 และข้อ 11 (7) ด้วย

 

หมวด 3
การสร้างนั่งร้าน

ข้อ 10 การสร้างนั่งร้าน นายจ้างต้องดำเนินการตามแบบและรายละเอียดตามข้อ 9 และตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้ ถ้ายึดด้วยตะปู จะต้องใช้ตะปูขนาดและความยาวเหมาะสม และจะต้องตอกให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับข้อต่อหนึ่งๆ เพื่อให้มีความมั่นคงแข็งแรง จะตอกตะปูในลักษณะรับแรงถอนโดยตรงมิได้ และต้องตอกให้สุดความยาวของตะปู เมื่อรื้อนั่งร้านออก จะต้องถอนตะปูจากไม้นั่งร้านหรือตีพับให้หมด

(2) นั่งร้านที่มีการใช้ลิฟท์ขนส่งวัสดุขึ้นลง ต้องจัดให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกนั่งร้านในระหว่างนำวัสดุขึ้นลงได้

(3) ห้ามมิให้สร้างนั่งร้านยึดโยงกับหอลิฟท์

(4) ต้องจัดให้มีผ้าใบ หรือสังกะสี หรือไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันปิดรอบนอกของนั่งร้าน ยกเว้นนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งของตก

(5) เหนือช่องที่กำหนดให้เป็นทางเดินต้องปิดคลุมด้วยผ้าใบ หรือสังกะสี หรือไม้แผ่น หรือวัสดุอื่นที่คล้ายกัน เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเดินนั้น

 

หมวด 4
การใช้นั่งร้าน

ข้อ 11 นายจ้างต้องจัดให้มีการใช้นั่งร้านเป็นไปตามข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(1) ถ้านั่งร้านส่วนใดชำรุด หรือน่าจะเป็นอันตรายต่อการใช้นั่งร้านนั้น ต้องทำการซ่อมแซมส่วนนั้นทันที และห้ามมิให้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้านส่วนนั้นจนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จ

(2) ในขณะมีพายุ ห้ามมิให้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้าน

(3) กรณีที่พื้นนั่งร้านลื่น ห้ามมิให้ใช้ลูกจ้างทำงานบนนั่งร้านส่วนนั้น

(4) ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานใกล้สายหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีฉนวนหุ้ม ต้องไม่ให้ใกล้เกินระยะที่กำหนดไว้ สำหรับแรงดันแต่ละระดับข้างล่างนี้ ทั้งในแนวระดับและแนวดิ่ง เว้นแต่นายจ้างจะได้จัดให้มีการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้านั้น เช่น ใช้ฉนวนหุ้มที่เหมาะสม

ระยะห่างไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร สำหรับแรงดันไฟฟ้าที่เกิน 50 โวลท์ ถึง 12,000 โวลท์
ระยะห่างไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร สำหรับแรงดันไฟฟ้าที่เกิน 12,000 โวลท์ ถึง 33,000 โวลท์
ระยะห่างไม่น้อยกว่า 3.30 เมตร สำหรับแรงดันไฟฟ้าที่เกิน 33,000 โวลท์ ถึง 69,000 โวลท์

ระยะห่างไม่น้อยกว่า 3.90 เมตร สำหรับแรงดันไฟฟ้าที่เกิน 69,000 โวลท์ ถึง 115,000 โวลท์
ระยะห่างไม่น้อยกว่า 5.30 เมตร สำหรับแรงดันไฟฟ้าที่เกิน 115,000 โวลท์ ถึง 230,000 โวลท์

(5) ในกรณีที่มีการทำงานแบบนั่งร้านหลายๆ ชั้นพร้อมกัน ต้องจัดให้มีสิ่งป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่ทำงานอยู่ชั้นล่างได้

(6) ในกรณีที่ใช้สารเคมีที่มีปฏิกิริยาทำให้เชือกหรือปอที่ผูกหรือมัดนั่งร้านเสื่อมคุณภาพได้ เช่น การใช้โซดาไฟบนนั่งร้านเพื่อทำความสะอาดภายนอกอาคาร ห้ามมิให้ใช้นั่งร้านที่ผูกหรือมัดด้วยเชือก หรือปอ

(7) ในกรณีที่ใช้มาตรฐานนั่งร้านประเภทต่างๆ ตามกำหนดในข้อ 12 ห้ามมิให้ใช้น้ำหนักบรรทุกนั่งร้านโดยเฉลี่ยเกินกว่า 150 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ระหว่างช่องเสา

สำหรับนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว ห้ามมิให้ใช้น้ำหนักบรรทุกบนนั่งร้านแต่ละชั้นโดยเฉลี่ยแล้วเกินกว่า 50 กิโลกรัมต่อความยาว 1.00 เมตร

 

หมวด 5
นั่งร้านมาตรฐาน

ข้อ 12 นั่งร้านที่สูงไม่เกิน 21.00 เมตร และนายจ้างมิได้ให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศกรรมควบคุมตามที่ ก.ว.กำหนด เป็นผู้ออกแบบนั่งร้าน นายจ้างต้องจัดทำนั่งร้านให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามที่ระบุไว้ในข้อ 9 และข้อ 10 กับข้อกำหนดสำหรับนั่งร้านมาตรฐานประเภทต่างๆ ดัง ต่อไปนี้

(1) ประเภทนั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว สูงไม่เกิน 7.00 เมตร สำหรับปฏิบัติงานทาสี

(ก) ถ้าใช้ไม้ไผ่ทำนั่งร้าน ไม่ไผ่ทุกลำจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 เซนติเมตร วัดตรงกลางท่อน การต่อไม้ไผ่ให้ต่อทาบ มีความยาวของส่วนที่ทาบนั้นไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร มัดให้ติดกันด้วยวิธีขันชะเนาะไม่น้อยกว่าสองเปลาะ เชือกหรือปอที่ใช้สำหรับผูกลำไม้ไผ่จะต้องเป็นเชือกหรือปอใหม่มีความเหนียวพอสมควร และจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร

การตั้งเสาไม้ไผ่ ให้ตั้งห่างกันไม่เกิน 1.50 ไม้ไผ่ที่ทำคานให้ผูกติดกับเสาทุกต้น เมื่อตั้งเสาให้ใช้ไม้ไผ่ทะแยงมุมไม่เกิน 45 องศา กับแนวราบ โดยให้มัดยึดโยงกับเสาทุกต้นสลับฟันปลาตลอดแนวแล้วให้ใช้ไม้ไผ่ผูกยึดนั่งร้านกับเสาสมอฝังดิน โดยมีระยะห่างกันไม่เกิน 4.50 เมตร

ชั้นของนั่งร้านแต่ละชั้น จะมีระยะห่างกันเกิน 2.00 เมตรไม่ได้
(ข) ถ้าใช้ไม้ชนิดอื่นทำนั่งร้าน ไม้ทุกชิ้นจะต้องมีขนาดพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 24 ตารางเซนติเมตรและมีหน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ระยะห่างของเสาคานและระยะระหว่างชั้นของนั่งร้านให้จัดทำเช่นเดียวกับนั่งร้าน ไม้ไผ่ และใช้ตะปูเป็นเครื่องยึดนั่งร้าน

นั่งร้านประเภทนี้ จะใช้รับน้ำหนักเกินน้ำหนักผู้ปฏิบัติงานและวัสดุเบาที่จะนำมาใช้งานไม่ได้
(2) ประเภทนั่งร้านสูงไม่เกิน 7.00 เมตร สำหรับงานก่อสร้าง

(ก) ถ้าใช้ไม้ไผ่ทำนั่งร้านไม้ไผ่ทุกลำจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 เซนติเมตร วัดตรงกลางท่อน การต่อไม้ไผ่ให้ต่อทาบมีความยาวของส่วนที่ทาบกันไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร โดยมัดให้ติดกันด้วยวิธีขันชะเนาะไม่น้อยกว่าสองเปลาะ เชือกหรือปอที่ใช้สำหรับผูกลำไม้ไผ่ จะต้องเป็นเชือกหรือปอใหม่ มีความเหนียวพอสมควรและจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร

การตั้งเสาไม้ไผ่ ให้ตั้งห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร เป็นสองแถว และระยะระหว่างแถวคู่เสาต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และไม่เกิน 79 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นคานยึดกับเสาทุกต้นทั้งสองข้าง ตงสำหรับรองรับพื้นให้ใช้ไม้เคร่า ซึ่งมีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 24 ตารางเซนติเมตร ผูกติดกับคานไม้ไผ่ในระยะห่างกันไม่เกิน 50 เซนติเมตร ไม้ที่ใช้ปูนั่งร้านให้ใช้ไม้ที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ยึดติดตงให้แน่น

เมื่อตั้งเสาและผูกคานแล้ว ให้ใช้ไม้ไผ่ผูกทะแยงกับเสาทุกต้น โดยทำมุมกับแนวราบไม่เกิน 45 องศา โดยผูกสลับฟันปลาตลอดทั้งแถวหน้าและแถวหลัง

ให้ใช้ไม้ไผ่ผูกยึดนั่งร้านกับส่วนของอาคารซึ่งแข็งแรงพอ หรือผูกยึดกับเสาสมอฝังดิน แต่จะห่างกันเกิน 4.50 เมตรมิได้

ชั้นของนั่งร้านแต่ละชั้น จะมีระยะห่างกันเกิน 2.00 เมตร มิได้
(ข) ให้จัดทำราวกันตก โดยใช้ไม้ไผ่ผูกกับเสาตามแนวนอน ระยะความสูงจากพื้นนั่งร้านแต่ละชั้นไม่ต่ำกว่า 90 เซนติเมตร และสูงไม่เกิน 1.10 เมตร ทุกชั้นของนั่งร้าน

นั่งร้านประเภทนี้ จะใช้รับน้ำหนักจนเกิน 150 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มิได้
(3) ประเภทนั่งร้านสูงไม่เกิน 12.00 เมตร สำหรับงานก่อสร้าง

(ก) ต้องใช้เสาไม้ที่มีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 33 ตารางเซนติเมตร และหน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร การตั้งเสาแต่ละต้นห่างกันไม่เกิน 2.00 เมตร โดยตั้งเป็นสองแถวและระยะระหว่างแถวคู่เสาต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และไม่เกิน 75 เซนติเมตร เสาไม้ต้องตั้งให้ได้ดิ่งกับพื้นดิน การต่อเสาไม้ทุกแห่งต้องต่อด้วยวิธีชนกัน และมีทาบรอยชนกันทั้งสองด้าน ไม้ทาบต้องมีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่าหน้าตัดของเสาและมีความยาวไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร

ไม้ที่ใช้ทำคาน ต้องมีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 33 ตารางเซนติเมตร ไม้ดังกล่าวต้องมีหน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร และมีหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 9 เซนติเมตร ระยะห่างคานแต่ละชั้นไม่เกิน 2.00 เมตร การต่อคานให้ต่อที่เสา คานให้ยึดติดกับเสา และต้องมีพุกรับทุกแห่ง

ไม้ที่ใช้ทำตง ต้องมีพื้นที่หน้าตัดไม่น้อยกว่า 24 ตารางเซนติเมตร หน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ระยะห่างของตงแต่ละอันไม่เกิน 50 เซนติเมตร และตงทุกอันต้องยื่นปลายออกจากคานไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร โดยยึดให้ติดกับคานทุกแห่ง

ไม้ที่ใช้ทำค้ำยัน ต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าไม้ที่ใช้ทำตง ค้ำยันจากพื้นดินขึ้นไปโดยตลอดเป็นรูปสลับฟันปลา และทะแยงมุม 45 องศา ถึง 60 องศา

พื้นนั่งร้านให้ใช้ไม้ที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 2 เซนติเมตร ปูทับตรงรอยต่อของพื้นต้องปูชนและให้เสริมตงรับปลายของพื้นทุกแห่งที่มีรอยต่อแล้วยึดกับตงให้แน่น

อุปกรณ์ที่ใช้ยึดนั่งร้านให้ใช้ตะปูที่มีความยาวพอเหมาะ หรือสลักเกลียวยึดทุกจุด
การยึดนั่งร้านติดกับอาคาร คาน หรือเสาคอนกรีตรอบนอกของอาคาร ให้ฝังเหล็กกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ยาวไม่นอยกว่า 30 เซนติเมตร ไว้ในคอนกรีตยื่นจากผิวคอนกรีตและมีระยะห่างกันไม่เกิน 2.00 เมตร เหล็กกลมดังกล่าวให้ปล่อยโผล่ไว้ เพื่อยึดเสานั่งร้านโดยรอบอาคาร และให้จัดทำไม้ค้ำยันป้องกันนั่งร้านเซหรือล้มเข้าหาอาคารทุกชั้นของอาคาร

นั่งร้านต้องทำบันไดสำหรับขึ้นไว้ภายใน โดยใช้ไม้ขนาดหน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร และหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร ตีเป็นลูกขั้นบันได ระยะของลูกขั้นบันไดห่างกันไม่เกิน 50 เซนติเมตรต่อขั้น บันไดแต่ละขั้นต้องทำให้เยื้องกัน แต่ไม่เกิน 10.00 เมตร

(ข) ให้จัดทำราวกันตก โดยใช้ไม้ขนาดหน้าแคบไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร และหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร ติดตั้งเคร่าด้านในของเสาโดยรอบนั่งร้าน ราวดังกล่าวต้องสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.10 เมตร

นั่งร้านประเภทนี้ จะใช้รับน้ำหนักจรเกิน 10 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มิได้
(4) ประเภทนั่งร้านสูงไม่เกิน 21.00 เมตร สำหรับงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตาม (3) ทุกประการ เว้นแต่เสาไม้สี่เหลี่ยมต้องมีหน้าแคบไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร และให้เสาตั้งอยู่ห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร

 

หมวด 6
การคุ้มครองความปลอดภัย

ข้อ 13 นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับนั่งร้าน หรือบนหรือภายใต้นั่งร้าน หรือบริเวณใกล้เคียงกับนั่งร้าน ตามประเภทและลักษณะการทำงาน อันอาจได้รับอันตรายจากการทำงานนั้นๆ สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานและภาวะอันตรายที่อาจได้รับตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน ดังต่อไปนี้

(1) งานช่างไม้ สวมหมวกแข็งและรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(2) งานช่างเหล็ก สวมหมวกแข็ง ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(3) งานผสมปูนซีเมนต์ สวมหมวกแข็ง ถุงมือยาง หรือถุงมือที่ทำด้วยวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันและรองเท้ายางชนิดหุ้มแข้ง

(4) งานก่ออิฐ ฉาบปูน หรือตกแต่งผิวปูน สวมหมวกแข็ง ถุงมือยาง หรือถุงมือที่ทำด้วยวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(5) งานประกอบโครงสร้าง ขนย้าย และติดตั้ง สวมหมวกแข็ง ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(6) งานทาสี สวมหมวกแข็ง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(7) งานประปา สวมหมวกแข็ง ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

(8) งานช่างกระจก สวมหมวกแข็ง ถุงมือผ้าหรือหนัง และรองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง

 

ข้อ 14 นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานในที่สูงเกิน 4.00 เมตร ซึ่งมีลักษณะโดดเดี่ยวและไม่มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยหรือการป้องกันอันตรายอย่างอื่น สวมเข็มขัดนิรภัยและเชือกนิรภัยตลอดเวลาในการทำงาน

 

หมวด 7
มาตรฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย

ข้อ 15 อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลต้องเป็นไปตามาตรฐาน ดังต่อไปนี้

(1) หมวกแข็ง ต้องเป็นรูปโดมชั้นเดียว ไม่มีตะเข็บ ไม่มีรูทะลุ ตัวหมวกทำด้วยวัตถุที่ไม่ใช่โลหะหรือมีส่วนที่เป็นโลหะ มีน้ำหนักไม่เกิน 420 กรัม เมื่อทดสอบการรับแรงกระแทก และการรับแรงเจาะตามวิธีทดสอบต้องลึกไม่เกิน 1 เซนติเมตร ตามลำดับ

ส่วนบนสุดของรองในหมวกต้องมีระยะห่างจากยอดหมวกด้านในไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร

(2) ถุงมือ ต้องมีความเหนียว ไม่ฉีกขาดง่าย มีความยาวหุ้มถึงข้อมือ และเป็นชนิดที่สวมนิ้วมือได้ทุกนิ้วเมื่อสวมแล้วสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือได้สะดวก ถ้าเป็นถุงมือยางต้องสามารถกันน้ำและกรดหรือด่างได้ด้วย

(3) รองเท้าชนิดหุ้มส้นพื้นยาง ต้องทำด้วยหนังหรือผ้าหุ้มเท้าตลอดและมีพื้นรองเท้าเป็นยางสามารถป้องกันการลื่นได้

(4) เข็มขัดนิรภัยต้องทำด้วยหนัง หรือทำด้วยด้าย หรือใยไนล่อน หรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันถักเป็นแถบมีความกว้างไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สามารถทนแรงดึงได้ไม่น้อยกว่า 1,150 กิโลกรัม

(5) เชือกนิรภัย ต้องสามารถทนแรงได้ไม่น้อยกว่า 1,150 กิโลกรัม ถ้าเป็นลวดสลิงต้องมีเครื่องช่วยรับแรงกระตุกติดตั้งไว้ด้วย

(6) รองเท้ายางชนิดหุ้มแข้ง ต้องทำด้วยยางหรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันหุ้มเท้าตลอดขึ้นไป มีความสูงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของหน้าแข้ง สามารถกันน้ำและกรดหรือด่างได้ด้วย

 

หมวด 8
เบ็ดเตล็ด

ข้อ 16 ข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยตามประกาศนี้ เป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องปฏิบัติเท่านั้น

ข้อ 17 ให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามประกาศนี้

 

ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2525

 

พลเอก สิทธิ จิรโรจน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 99 ตอนที่ 103 วันที่ 30 กรกฎาคม 2525